Post : 29 Jun 2021
ด้วยกระแสยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ที่มีแนวโน้มเติบโตสูงทั่วโลก และยังเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย (S-Curve) ที่ภาครัฐพยายามผลักดันให้เกิดการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC
การส่งเสริมการลงทุนผ่านมาตรการของบีโอไอ ทำให้โครงการยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับอนุมัติจากบีโอไอมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 161,000 ล้านบาท ในปี 2563 จาก 148,000 ล้านบาท ในปี 2561 ซึ่งเติบโตที่ 9% ทั้งนี้ การเติบโตของสายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทั้งในไทยและทั่วโลกจะหนุนให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องขยายตัวตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แบตเตอรี่ Lithium-ion
แบตเตอรี่ Lithium-ion เป็น Energy Storage System ประเภทหนึ่งที่กำลังได้ความนิยมมากสุดในปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนได้จากส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 27.5% ซึ่งมากสุดในกลุ่ม โดยส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นแหล่งกักเก็บพลังงานของยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังเติบโตเกาะกระแส Green Economy หลังจากที่ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการลด Carbon footprint ของกระบวนการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้ Allied Market Research ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำงานวิจัยด้านการตลาด และอุตสาหกรรมเชิงลึก คาดว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีทิศทางเติบโตที่ 13.9%ต่อปี และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมมีทิศทางเติบโตที่ 13.5%ต่อปี ในช่วงปี 2563-2570 จะช่วยหนุนให้ความต้องการใช้แบตเตอรี่ Lithium-ion ของโลก มีทิศทางขยายตัวตามไปด้วย เนื่องจาก แบตเตอรี่ Lithium-ion มักถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มเสถียรภาพแก่การผลิตและการจ่ายกระแสไฟฟ้า นอกเหนือจากการกักเก็บพลังงานไว้ใช้ในช่วงเวลากลางคืนสำหรับ Solar rooftops ของภาคครัวเรือน
สำหรับในไทย คาดว่าปริมาณการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ 6.03 แสนคัน และ 1.4 ล้านคัน ในปี 2573 ตามเป้าหมายของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เทียบกับปี 2562 ที่ IHS Markit ซึ่งบริษัทให้บริการด้านฐานข้อมูลของอุตสาหกรรม ประเมินไว้ที่ 35,039 คัน นอกจากนี้ การที่ภาครัฐมีแผนลดก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตไฟฟ้าลง 20-25% ภายในปี 2573 ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตในกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำและพลังงานลม ทำให้ในปี 2580 เพิ่มเป็น 5,714 เมกะวัตต์ จากปี 2563 อยู่ที่ 1,488 เมกะวัตต์ ทั้งหมดนี้ ทำให้ความต้องการใช้แบตเตอรี่ Lithium-ion ในไทย มีแนวโน้มเติบโตสูงถึง 12% ต่อปี ในช่วงปี 2563-2568 และคาดว่ามูลค่าธุรกิจนี้จะแตะ 20,000 ล้านบาท ภายในปี 2568
ผลจากการเติบโตของความต้องการใช้แบตเตอรี่ Lithium-ion ที่ทวีสูงขึ้นในระยะข้างหน้า ทำให้ Krungthai COMPASS มองว่ากลุ่มผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพที่จะขยายตัวไปพร้อมกับการเติบโตของตลาดแบตเตอรี่ Lithium-ion คือ ธุรกิจผลิต Semiconductor (ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสมบัติในการนำไฟฟ้า) ซึ่งจัดว่าเป็นอุตสาหกรรมขั้นกลางของห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ Lithium-ion และมีทิศทางเติบโตโดดเด่น ขณะที่ อุตสาหกรรมขั้นต้น เช่น ธุรกิจแปรรูป Lithium ไทยค่อนข้างเสียเปรียบ เนื่องจากไม่มีแหล่งแร่ตามธรรมชาติในไทย ทำให้ไทยต้องนำเข้าวัตถุดิบแร่ Lithium มาจากต่างประเทศ 100% ทั้งนี้ ส่วนประกอบของ Semiconductor ที่ไทยจะมีศักยภาพในการผลิตมากที่สุดคือ Diode (ตัวรักษาระดับแรงดันไฟฟ้าของแต่ละเซลล์ในแบตเตอรี่) และ Transistor (ตัวควบคุมกระแสไฟฟ้าของแบตเตอรี่) เห็นได้จากมูลค่าการส่งออก Diode และ Transistor โดยรวมของไทยสูงถึง 2,521 ล้านดอลลาร์ ในปี 2563 ซึ่งเติบโตสูงถึง 31% และไทยยังจัดเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 11 ของโลก อีกด้วย
ปัจจุบัน ผู้ประกอบการรายเดิมในไทยที่เป็นผู้ผลิต Semiconductor สำหรับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ มีเพียง 2 ราย ทำให้ภาวะการแข่งขันของธุรกิจนี้ต่ำมาก จึงเป็นโอกาสแก่ผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้ามาขยายกิจการเข้าสู่ธุรกิจ
Credit: Bangkokbiznews
Ref: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/940676