Post : 12 Nov 2019
วันที่ 24 ต.ค. 2562 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) โดยนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ.
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นโยบายการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และช่วยดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนทั่วโลกได้ โดยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 5 โครงการ ได้แก่
1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)
2.โครงการพัฒนาเมืองการบินและสนามบินอู่ตะเภา
3.โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO)
4.ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3
5.ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3
โดยก่อนหน้านี้ (วันที่ 1 ตุลาคม 2562) มีการเซ็นสัญญาร่วมลงทุนรูปแบบ PPP ในโครงการก่อสร้างท่าเรือฯมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) ไปแล้วเป็นเมกะโปรเจกต์แรกของ EEC ล่าสุดภายในเดือนเดียวกัน เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 62 มีอีกหนึ่งเมกะโปรเจกต์ของ EEC คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่ได้มีการลงนามสัญญาร่วมลงทุนแบบ PPP เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดย นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก เชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) หรือกลุ่ม CPH โดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะผู้แทนกลุ่ม CPH
รวมทั้งการลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) โดย นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ลกพอ.), ร.ฟ.ท. โดย นายวรวุฒิ มาลา และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะผู้แทนกลุ่ม CPH กล่าวว่า รู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้มีโอกาสร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่มีอายุสัญญาถึง 50 ปี ซึ่งกลุ่มซีพีได้เตรียมการก่อนการประมูลโครงการไม่ต่ำกว่า 2 ปี และรวบรวมรายละเอียดเพื่อยื่นข้อเสนอกว่า 11 เดือน โดยหลังการลงนามจะเร่งเข้าไปบริหารจัดการบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบินฯ เพื่อดำเนินการลงพื้นที่สำรวจ/ออกแบบ เจรจากับผู้รับเหมาก่อสร้าง และซัพพลายเออร์ต่าง ๆ รวมถึงจัดทำแผนก่อสร้างและเดินหน้าทันที คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายใน 12 เดือน จากกรอบเวลากำหนดไว้ 24 เดือน
"นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของไทยที่ภาคเอกชนได้ร่วมลงนามในสัญญาร่วมลงทุนแบบ PPP กับภาครัฐ ผลักดันให้เกิดโครงการก่อสร้างเมกะโปรเจกต์ระดับนานาชาตินี้ขึ้นมาได้สำเร็จ โดยต้องขอบคุณพันธมิตรที่เป็นกิจการร่วมค้า คือ ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่น ลิมิเต็ด, บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) รวมทั้งพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศ อาทิ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) และธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศจีน (CDB) รวมทั้งได้รับเกียรติจากเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย 3 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น และอิตาลี ที่ให้การสนับสนุนโครงการประวัติศาสตร์ที่เป็นความร่วมมือระดับโลกที่จะพลิกโฉมหน้าประเทศไทย"
ทั้งนี้ นายศุภชัย ยอมรับว่า ในการก่อสร้างโครงการพบว่า ช่วงดอนเมือง-พญาไท ก่อสร้างยากที่สุด เนื่องจากจะต้องรื้อถอนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในแนวเส้นทาง และช่วงสนามบินสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ซึ่งมีระยะทางค่อนข้างไกล ถือว่ามีความท้ายที่แตกต่างกันจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย แต่จะเดินหน้าอย่างเต็มที่เพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 5 ปี หรือสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2566 ตามเป้าหมาย
หลังจากนี้ จะเสนอคณะกรรมการบริหารโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พิจารณาแผนการก่อสร้างบริเวณสถานีมักกะสันและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ วงเงินลงทุน 1.4 แสนล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ 140 ไร่ เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงของ 3 สนามบิน และรองรับผู้ใช้บริการต่าง ๆ ทั้งนักท่องเที่ยว และนักธุรกิจ โดยเฉพาะนักธุรกิจที่มีการลงทุนในพื้นที่ EEC โดยการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เบื้องต้นอาจมีการพัฒนาโรงแรม รวมทั้งศูนย์วิจัยการพัฒนาด้านรถไฟในอนาคตด้วย โดยมีผู้แสดงความสนใจจำนวนมาก และบริษัทยังเปิดกว้างรับพันธมิตรใหม่ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจากับต่างประเทศเพื่อให้เข้ามาร่วมทุน แต่จะต้องหารือกับ ร.ฟ.ท. อีกครั้ง เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญา
"ปัจจุบันกลุ่มซีพีถือหุ้นในบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบินฯ อยู่ 70% และพร้อมลดการถือหุ้นลงมาอย่างน้อยที่ 40% เพื่อเปิดทางให้ผู้สนใจเข้ามาร่วมทุนเพิ่มเติม แต่ในช่วงของการก่อสร้างอยากให้กลุ่มซีพีถือหุ้นไม่กว่า 51% เพื่อให้มีอำนาจในการตัดสินใจที่เด็ดขาดและทำให้การเดินหน้าโครงการคล่องตัวมากขี้น ส่วนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เป็นเป้าหมายของโครงการนี้เพื่อให้ได้เงินลงทุนเข้ามาในช่วงที่มีการก่อสร้างจนครบ 2.2 แสนล้านบาท ในช่วง 6 ปี"
ด้าน นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ลกพอ.) กล่าวว่า การส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่มซีพีในช่วงแอร์พอร์ตลิงค์จะดำเนินการได้ทันที และช่วงสนามบินสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร กำหนดเวลาส่งมอบไม่เกิน 2 ปี แต่จะเร่งรัดให้เสร็จภายใน 1 ปี 3 เดือน ส่วนช่วงสถานีพญาไท-สนามบินดอนเมือง มีโครงสร้างพื้นฐานใต้ดินจำนวนมาก อาทิ สายไฟ และท่อต่าง ๆ จึงต้องใช้เวลาเคลื่อนย้ายโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ให้เสร็จและส่งมอบพื้นที่ไม่เกิน 4
ปี แต่จะเร่งทำให้เสร็จภายใน 2 ปี 3 เดือน โดยจะตั้งคณะทำงานร่วมกันหลายฝ่ายเพื่อให้การส่งมอบพื้นที่เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด
"ก่อนหน้านี้อัยการสูงสุดเตือนว่าโครงการจะมีความล่าช้า เพราะปัญหาการส่งมอบพื้นที่ ทำให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ดึงเรื่องนี้มาทำเองและหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตั้งคณะทำงานขึ้นมาเร่งรัดเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งเชื่อว่าจะไม่ทำให้โครงการล่าช้าไปกว่านี้ และนอกจากนี้ การที่เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนจึงต้องแบกรับความเสี่ยงร่วมกัน ทำให้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ร่วมกัน"
ส่วนการผลักดันโครงการร่วมลงทุนกับโครงการขนาดใหญ่ใน EEC เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น นายคณิศ กล่าวว่า ขณะนี้ได้หารือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว โดยทางตลาดหลักทรัพย์ฯ จะส่งทีมเข้ามาศึกษาความพร้อมของแต่ละโครงการต่าง ๆ ว่าจะสามารถเข้าตลาดได้เมื่อใด ซึ่งจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าโครงการเหล่านี้มีศักยภาพที่จะสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ลงทุนได้ โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ทางเอกชนจะต้องหารือกับ ร.ฟ.ท. ต่อไป ส่วนประเด็นการจ่ายเงินร่วมลงทุนกับเอกชนนั้น ภาครัฐจะทยอยจ่ายให้หลังจากที่การก่อสร้างดำเนินการแล้วเสร็จในแต่ละช่วง ไม่ใช่ให้การก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดจึงจะจ่ายเงินคราวเดียว
ขณะที่ นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า การลงนามสัญญาครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลอย่างรัดกุมของ กพอ. และนับเป็นครั้งแรกของรัฐบาลที่ผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงในรูปแบบ PPP ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 224,544 ล้านบาท ส่วนการเคลื่อนย้ายระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนดำเนินโครงการจะต้องร่วมมือกับทุกหน่วยงานอย่างใกล้ชิด โดยช่วงสถานีพญาไท-สนามบินดอนเมือง มีความยากมากที่สุด แต่มั่นใจว่าจะทยอยส่งมอบพื้นที่ได้ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการก่อสร้างโครงการ
ทั้งนี้ หลังการเซ็นสัญญาแล้ว จะต้องเริ่มงานออกแบบก่อสร้างโครงการ ซึ่งกลุ่ม CPH ต้องส่งผู้รับเหมาก่อสร้างมาหารือกับ ร.ฟ.ท. ในฐานะเจ้าของโครงการ เพื่อร่างแบบก่อสร้างและทำแผนส่งมอบพื้นที่ให้เสร็จภายใน 3 เดือน โดยคาดว่าภายในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2562 นี้ จะสามารถเข้าพื้นที่สำรวจการเวนคืนที่ดินตาม พ.ร.ฎ.เวนคืน และสำรวจผู้บุกรุก/สัญญาเช่า รวมถึงแผนรื้อย้ายสาธารณูปโภคร่วมกับ 8 หน่วยงาน เพื่อส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้เสร็จใน 2 ปี
การลงนามสัญญา ฯ ครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลอย่างรัดกุมของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และนับเป็นครั้งแรกของรัฐบาลที่ได้ผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงในรูปแบบร่วมทุนระหว่างภาครัฐ และเอกชน (PPP) ที่มีมูลค่าสูงถึง 224,544 ล้านบาท โดยที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์สูงสุดจากข้อตกลงสัญญาสัมปทาน ร่วมลงทุน 50 ปี อีกทั้งทรัพย์สินทั้งหมดจะเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา
Credit: EEC